ประวัติความเป็นมา

กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน เดือนห้า แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคู เมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้

อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาว จีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม


อักษราหุ่นละครเล็ก ( โรงละครอักษรา)

โรงละครอักษรา ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารคิงพาวเวอร์ คอมเพล้กซ์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี โรงละครอักษราเป็นโรงละครขนาดกลางขนาด 600 ที่นั่ง ที่สุดของมนต์เสน่ห์มายาเหนือจินตนาการกลางใจเมือง ภายใต้บรรยกากาศตกแต่งที่รังสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากศิลปะยุคบาโคก และวิจิตรด้วยลวดลายจากสถาปัตยกรรมและศิลปไทย พร้อมกับคุณภาพด้านเทคนิคโรงละครอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังมี Scene Shop ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และ Scene Bar จำหน่ายอาหารและเครื่องดิ่ม

ขณะนี้ทางโรงละคร จัดให้มีการแสดง " “อักษราหุ่นละครเล็ก” ศิลปะการแสดงชั้นสูงที่หาชมได้ยาก ร่วมถ่ายทอดโดยคณะนักแสดงและหุ่นกว่า 110 ตัวในชุดการแสดงต่าง ๆ ผสมผสานท่วงทำนองเพลงอันวิจิตรจากคณะออเคสตร้าชั้นนำ บนฉากสุดตระการตา ด้วยเทคนิคแสง เสียง ณ “โรงละครอักษรา” โดยมีรอบการแสดงดังนี้ : อังคาร - ศุกร์ เวลา 19.00 น. เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 13.00, 19.00 น. วันจันทร์ งดการแสดง ค่าเข้าชมท่านละ 800 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 677 8888 ต่อ 5678 www.Aksratheatre.com

การเดินทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ รถเมล์สาย 73, 204 ลงที่ถนนรางน้ำ

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ใกล้สยามดิสคัฟเวอรี่ โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2538 สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวมรวมการจัดแสดงงานศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา ทุกแขนง รวมทั้งศิลปกรรมร่วมสมัย ทั้งในประเทศและนานาชาติ ท้องถิ่นหรือบุคคล ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงนิทรรศการประเภทสื่อต่างๆ ส่วนปฏิบัติการศิลปะประติมากรรม ห้องอเนกประสงค์ ห้องแสดงละครและโรงภาพยนตร์ และห้องสมุดสำหรับประชาขน และทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีการจัดตลาดนัดศิลปะ โดยศิลปินหรือกลุ่มเยาวชนต่างๆ สอบถามเพิ่มเติมหรือข้อมูลการจัดแสดงงาน โทร. 02 214 6630-1

** 29 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2551 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00 – 21.00 น. จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณชั้น 9

สยามนิรมิต

ตั้งอยู่ที่ถนนเทียมร่วมมิตร เยื้องศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ข้างสถานทูตเกาหลีใต้ เขตห้วยขวาง เป็นสถานที่จัดแสดงโชว์ศิลปวัฒนธรรมไทยรูปแบบใหม่ ระดับมาตรฐานโลก นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และคติความเชื่อของชนชาวสยาม ผ่านการนำเสนอโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งฉาก ระบบแสง สี เสียง ภาพ และเทคนิคพิเศษบนเวทีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยทุนสร้างนับพันล้านบาท เพื่อให้เป็นอัครการแสดงที่เป็นความภูมิใจของคนไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมสำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
โรงละครรองรับผู้เข้าชมได้กว่า 2,000 ที่นั่ง เปิดแสดงวันละ 1 รอบ เวลา 20.00 น. ค่าบัตรเข้าชม 1,500 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2649 9222 หรือเว็บไซต์ www.siamniramit.com

วัดชนะสงคราม

เดิมอยู่กลางทุ่งนาจึงเรียกว่า " วัดกลางนา" สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาขึ้นใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชาวบ้านนิยมเรียกว่า" วัดตองปุ " ตามแบบวัดตองปุในสมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกจึงพระราชทานนามใหม่ว่า " วัดชนะสงคราม " เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ"

วัดชนะสงครามตั้งอยู่ที่ ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 33, 64, 65, ปอ. 32, 64, 65

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง พระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า “มิวเซี่ยม” แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วนกลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีวัดบวรสถานสุทธาวาส ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้าใกล้กับโรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่างๆ มากมายอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยและชาติเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลยอดเยี่ยมประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากผลงานโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชุมชนของตนเพื่อการท่องเที่ยว เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 1333

การแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุงตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร เดิมเป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ต่อมาได้มีการปรับปรุงให้เป็นโรงละครที่ทันสมัย โดยมีการนำเอาเทคนิคพิเศษมาประกอบการแสดงหลากหลายประเภท อาทิ โขน ละครเวที ละครย้อนยุค และภาพยนตร์หมุนเวียนกันไป ติดต่อ โทร. 0 2225 8757–8, 0 2623 8148-9 หรือ เว็บไซต์ www.salachalermkrung.com

ตั้งแต่ปี 2549 มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดโครงการ โขน-ศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยได้จัดแสดงตลอดปี 2549 นอกจาก โขน ซึ่งเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของไทยแล้ว สถานที่จัดแสดง คือ ศาลาเฉลิมกรุงก็เป็นโรงมหสพหลวงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ เป็นเสมือนสถาบันสัญลักษณ์แห่งการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประจำชาติด้วยรูปแบบของการแสดงอันวิจิตรตระการตา ถูกต้องตามขนบจารีตแบบแผน ซึ่งจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนได้ตระหนัก ซาบซึ้ง และภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นการสืบอายุศิลปะและศิลปินไทยให้ดำรงอยุ่อย่างยืนยาว และส่งผลดีต่อเกียรติภูมิของประเทศด้วย

การแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุง แสดงทุกวันศุกร์และเสาร์ เริ่มเวลา19.30 น. ใช้เวลาแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที บัตรราคา 1,000 และ 1,200 บาท จองบัตรได้ที่ศาลาเฉลิมกรุง โทร. 0-2623-8148-9, 0-2225-8757-8

พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน

อยู่ในซอยเกษมสันต์ ซอย 2 ถนนพระรามที่ 1 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ เป็นบ้านเรือนไทยของนายทหารอเมริกัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไหมไทย ภายในหมู่เรือนไทยภาคกลางซึ่งจิม ทอมป์สัน ได้ซื้อมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาปลูกใหม่ริมคลองแสนแสบที่กรุงเทพฯ ภายในแบ่งเนื้อที่ใช้สอยเป็นห้องอ่านหนังสือ ห้องนอน ห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น ล้วนประดับตกแต่งด้วยศิลปกรรมโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า มีส่วนที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมและร้านจำหน่ายผ้าไหมอีกด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00–17.00 น. อัตราค่าเข้าชมคนละ 100 บาท เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ราคา 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และผู้สื่อข่าว เข้าชมฟรี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2215 0122, 0 2216 7368, 0 2612 3744

วัดสระเกศ (ภูเขาทอง)

อยู่นอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค ตรงที่บรรจบกับคลองบางลำพู เดิมเป็นวัดเก่าชื่อว่า "วัดสะแก" ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระราชทานนามว่า "วัดสระเกศ" ส่วนเจดีย์ภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทรงเลียนแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกอยู่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขณะนั้นกำลังทรงผนวชอยู่ที่ประเทศอินเดีย ได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายในฐานะที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เป็นพุทธมามกะอยู่ในขณะนั้น เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 07.30 – 17.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2621 0576

วัดไตรมิตรวิทยาราม

อยู่ที่ถนนเจริญกรุง (ใกล้หัวลำโพง) เดิมชื่อว่า "วัดสามจีน" ภายในวัดมีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่ง เมื่อคราวเปลี่ยนที่ตั้ง ปูนที่หุ้มอยู่ได้กะเทาะออก เห็นภายในเป็นพระพุทธรูปทองคำ ลักษณะองค์พระเป็นศิลปะสุโขทัยจึงได้ถวายพระนามว่า "พระสุโขทัยไตรมิตร" เป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีส่วนผสมของทองคำสูงมาก เรียกว่า "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา" มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว สูง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว

วัดอรุณราชวราราม

ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ข้ามเรือได้ที่ท่าเตียน เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดแจ้ง” ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีย้าย ราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเอาวัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐานใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 เมื่อบูรณะเสร็จแล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดอรุณราชธาราม” ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งมีความสูงถึง 67 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม”
เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 7.30 - 17.30 น. ผู้ประสงค์จะเข้าชมในพระอุโบสถต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าถึงเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ
การเดินทาง สามารถใช้เรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียน หรือท่าวัดโพธิ์ ไปยังท่าวัดอรุณฯ

ฟังเสียงบรรยายวัดอรุณราชวราราม

พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ

ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่บนเกาะสีชัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ชะลอมาไว้ ณ สถานที่ตั้ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2444 ประกอบด้วยห้องต่างๆ 81 ห้อง ตัวอาคารมีคลองล้อมรอบ ภายในบริเวณร่มรื่น สวยงามมาก ภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีหมู่พระตำหนักอีก 11 องค์ที่ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของสำคัญต่างๆ ได้แก่
พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2474 จุดเด่นที่สวยงามของพระที่นั่งองค์นี้ก็คือ ลายไม้ฉลุแบบสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบันปรับแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานหัตถกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภายในพิพิธภัณฑ์มีงานหัตถกรรมหลากหลายให้ชม อาทิ เครื่องเงิน คร่ำ ผ้าทอ ผ้าปัก ถมเงิน ถมทอง งานประดับด้วยปีกแมลงทับ เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง เป็นที่รวบรวมรถม้าพระที่นั่งโบราณซึ่งใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 รถม้าแต่ละคัน เคยร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ มีความสง่าสวยงาม และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
พระตำหนักสวนสี่ฤดู เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช
นอกจากนี้ภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีอาคารที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ พิพิธภัณฑ์เครื่องราชูปโภค และพระสาทิสลักษณ์ พิพิธภัณฑ์ภาพพระราชพิธี
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักชัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.30–16.00 น. อัตราค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ คนไทย ผู้ใหญ่ 75 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2628 6300-9 website: www.vimanmek.com

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารหินอ่อนแบบเรเนอซองส์ ของประเทศอิตาลี ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองแขกเมือง และประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน พระที่นั่งนี้สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมของพระที่นั่งมีภาพเขียนเฟรสโกที่สวยงามมาก เป็นภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบรมรราชวงศ์จักรี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-6 รวม 6 ภาพ พระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีรัฐพิธีต่างๆ และเคยใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจึงได้ย้ายการประชุมมายังรัฐสภาใหม่ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่ง

ปัจจุบันนี้ ภายในพระที่นั่งมีการจัดแสดงผลงานชื้นเอกของโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา หรือ นิทรรศการงานศิลป์แผ่นดิน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้สร้างถวายเนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยสำคัญต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมผลงานของนักเรียนโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา จำนวนหลายชื้น ทั้งผลงานขนาดเล็กและใหญ่

เปิดให้เข้าชมวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น.ทุกวัน ปิดทุกวันจันทร์ วันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ ค่าเข้าชมคนละ 150 บาท (แต่งเครื่องแบบนักเรียน 75 บาท) การแต่งกาย ชุดสุภาพ ผู้หญิงสวมกระโปรง ไม่อนุญาติเสื้อไม่มีแขน

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 283 9411, 02 283 9185 www.artsofthekingdom.com


Tags : ศิลป์แผ่นดิน

สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา)

สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพื้นที่ 118 ไร่ ได้รับการจัดตั้งให้จัดตั้งเป็นสวนสัตวตั้งแต่ปีพ.ศ. 2481 ปัจจุบันเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาตามลำดับ มีทั้งสัตว์ท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศให้ชมจำนวนมาก เป็นสถานที่เดียวที่พบหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งใน unseen in Thailand
สวนสัตว์ดุสิตเปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.อัตราค่าเข้าชมสวนสัตว์ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
ในช่วงปี 2549 ได้ขยายเวลาเข้าชมถึง 21.00 น. โดยมีกิจกรรมไนท์ซาฟารี หรือชมสวนสัตว์ในตอนกลางคืน สามารถเดินชม หรือนั่งชมบนรถพ่วงโดยมีวิทยากรนำชม รถออกเวลา 19.00 น.และ 20.00 น.ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก คนละ 10 บาท
สอบถามรายเพิ่มได้ที่ โทร. 0 2281 2000 และ 0 2282 7111-3 หรือเว็บไซด์ www.zoothailand.org

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างศิลปสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในชื่อ “Marble Temple” พระประธานของวัดจำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถเรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่างๆ 52 องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ และต่างประเทศ เว็บไซด์www.watbencha.com

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า อดีตเคยเป็นโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทย ปัจจุบันเป็นศูนย์รวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณ และแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตั้งแสดงอยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2281 2224, 0 2282 2639

พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมากขึ้นหมู่พระที่นั่งที่สำคัญมีดังนี้

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาท องค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคล และบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท อยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะ และประทับเปลื้องเครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่

.พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทม และทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2419 ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดี หรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่นๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ


วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-9 ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถ และระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ 8 องค์ พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทนครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ
ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ และเหรียญกษาปณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้านขวามือก่อนถึงทางเข้าพระราชวังส่วนใน จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ และเงินตราที่ใช้ในประเทศไทยรวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักฝ่ายใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น. ค่าเข้าชม 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนจัดแสดง โทร. 0 2222 5864 ต่อ 18


พระบรมมหาราชวังเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–15.30 น. ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับชาวต่างประเทศเสียค่าเข้าชม ***250 บาท ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ และค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0 2224 3273 หรือ 0 2623 5500 ต่อ 3100 หรือ www.palaces.thai.net
***หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ 1กรกฏาคม 2551 สำนักพระราชวังปรับราคาค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างประเทศเป็น 300 บาท และ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ปรับราคาเป็น 350 บาท ทั้งนี้ผู้ซื้อบัตรสามารถเข้าชมนิทรรศการ "ศิลป์แผ่นดิน" ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เริ่มลงมือก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 มีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ตรงกลางประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน

วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่สร้างยังมิทันสำเร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินงานต่อ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม” สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดสุทัศน์ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่นๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (ต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่อยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–21.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 9845, 0 2222 9632 หรือเว็บไซต์ www.watsuthat.org
ฟังเสียงบรรยายวัดสุทัศน์เทพวราราม

วัดราชนัดดาราม

วัดราชนัดดาราม อยู่ที่ถนนมหาไชย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2389 เป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี มีเจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองออกแบบ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์เป็นแม่กองสร้างโลหะปราสาท วัดนี้แปลกกว่าวัดอื่น คือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างธรรมเจดีย์ปราสาทแทนการสร้างพระเจดีย์ (นับเป็นแห่งที่ 3 ของโลก) มีความสูง 36 เมตร ประกอบด้วย เจดีย์ล้อมรอบ 37 องค์ เพื่อให้เท่ากับ “โพธิปักขียธรรม 37 ประการ” ปัจจุบันโลหะปราสาทแห่งนี้เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก เนื่องจากโลหะปราสาทที่ประเทศอินเดียและศรีลังกาได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00–20.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 8807, 0 2225 5769

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม บนถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร เสาชิงช้าถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2327และถือเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ มีสีแดงชาด มีส่วนสูงประมาณ 21 เมตร เนื่องจากเสาชิงช้ามีอายุการใช้งานมานานและสภาพชำรุดมาก จึงได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์เสาชิงช้าใหม่โดยใช้ไม้สักทองที่มีลำต้นขนาดใกล้เคียงเสาชิงช้าเดิมจำนวน 6 ต้นจากจังหวัดแพร่ และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2549
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้วได้โปรดให้มีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า บริเวณริมถนนบำรุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 และ มีการซ่อมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 และมีการเปลี่ยนเสาใหม่โดยคงไว้ในลักษณะเดิมในปี พ.ศ. 2513 จากนั้นก็ยังไดัรับการซ่อมแซมบูรณะอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปีพ.ศ.2548 เสาส่วนกลางมีความชำรุดมากและเนื่องด้วยเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร ทางกรุงเทพมหานครฯ จึงได้ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเสาใหม่ทั้งหมด ดังที่เห็นในปัจจุบัน และในอดีตเสาชิงช้านี้เคยใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ เพื่อเป็นการแสดงถึงการต้อนรับพระอิศวรในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ในเดือนยี่ของทุกปี แต่ต่อมาพระราชพิธีนี้ได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2478

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า แก่งหลวง ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า เมืองเชลียง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง

อัตราค่าเข้า : นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมเพื่อเข้าชมโบราณสถานอื่นได้ ได้แก่ โบราณสถานวัดชมชื่น และเตาทุเรียงเกาะน้อย ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท

ชมวีดีโอ จักรยานท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ฟังเสียงบรรยาย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

วัดใหญ่ชัยมงคล


เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัต มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว” ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดเจ้าพระยาไทย” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทยหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทยจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก ค่าเข้าชม ต่างชาติ คนละ 20 บาท


วัดพระศรีสรรเพชญ์


ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปี พ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”

สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน 07.00–18.30 น.

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างประเทศ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน อันได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดมเหยงค์ วัดไชยวัฒนาราม, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 3 โทร. 0 3524 2501, 0 3524 2448 หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286

หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) อยู่ที่ถนนสนามไชย ข้างพระบรมหาราชวัง เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม วัดนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด และได้นำเอาตำราวิชาการด้านต่างๆ มาจารึกไว้โดยรอบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ถือได้ว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ที่วัดโพธิ์ยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย ชาวต่างชาติคนละ 50 บาท ต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2222 5910, 0 2226 2942, 0 2226 1743, 0 2225 9595

หมายเหตุ ในวันที่ 31 มีนาคม2551นี้ จารึกวัดโพธิ์ จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองให้เป็น " มรดกแห่งความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO)