ประวัติความเป็นมา

กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงครองราชย์ ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน เดือนห้า แรม 9 ค่ำ ปีขาล พ.ศ. 2325 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคู เมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้

อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี คือ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้นเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาว จีน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2328 จึงได้จัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน รวมทั้งงานฉลองพระนคร โดยพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัด ธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม


อักษราหุ่นละครเล็ก ( โรงละครอักษรา)

โรงละครอักษรา ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารคิงพาวเวอร์ คอมเพล้กซ์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี โรงละครอักษราเป็นโรงละครขนาดกลางขนาด 600 ที่นั่ง ที่สุดของมนต์เสน่ห์มายาเหนือจินตนาการกลางใจเมือง ภายใต้บรรยกากาศตกแต่งที่รังสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากศิลปะยุคบาโคก และวิจิตรด้วยลวดลายจากสถาปัตยกรรมและศิลปไทย พร้อมกับคุณภาพด้านเทคนิคโรงละครอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังมี Scene Shop ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และ Scene Bar จำหน่ายอาหารและเครื่องดิ่ม

ขณะนี้ทางโรงละคร จัดให้มีการแสดง " “อักษราหุ่นละครเล็ก” ศิลปะการแสดงชั้นสูงที่หาชมได้ยาก ร่วมถ่ายทอดโดยคณะนักแสดงและหุ่นกว่า 110 ตัวในชุดการแสดงต่าง ๆ ผสมผสานท่วงทำนองเพลงอันวิจิตรจากคณะออเคสตร้าชั้นนำ บนฉากสุดตระการตา ด้วยเทคนิคแสง เสียง ณ “โรงละครอักษรา” โดยมีรอบการแสดงดังนี้ : อังคาร - ศุกร์ เวลา 19.00 น. เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 13.00, 19.00 น. วันจันทร์ งดการแสดง ค่าเข้าชมท่านละ 800 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 677 8888 ต่อ 5678 www.Aksratheatre.com

การเดินทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ รถเมล์สาย 73, 204 ลงที่ถนนรางน้ำ

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ใกล้สยามดิสคัฟเวอรี่ โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2538 สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวมรวมการจัดแสดงงานศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา ทุกแขนง รวมทั้งศิลปกรรมร่วมสมัย ทั้งในประเทศและนานาชาติ ท้องถิ่นหรือบุคคล ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงนิทรรศการประเภทสื่อต่างๆ ส่วนปฏิบัติการศิลปะประติมากรรม ห้องอเนกประสงค์ ห้องแสดงละครและโรงภาพยนตร์ และห้องสมุดสำหรับประชาขน และทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีการจัดตลาดนัดศิลปะ โดยศิลปินหรือกลุ่มเยาวชนต่างๆ สอบถามเพิ่มเติมหรือข้อมูลการจัดแสดงงาน โทร. 02 214 6630-1

** 29 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2551 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00 – 21.00 น. จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณชั้น 9

สยามนิรมิต

ตั้งอยู่ที่ถนนเทียมร่วมมิตร เยื้องศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ข้างสถานทูตเกาหลีใต้ เขตห้วยขวาง เป็นสถานที่จัดแสดงโชว์ศิลปวัฒนธรรมไทยรูปแบบใหม่ ระดับมาตรฐานโลก นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และคติความเชื่อของชนชาวสยาม ผ่านการนำเสนอโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งฉาก ระบบแสง สี เสียง ภาพ และเทคนิคพิเศษบนเวทีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยทุนสร้างนับพันล้านบาท เพื่อให้เป็นอัครการแสดงที่เป็นความภูมิใจของคนไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมสำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
โรงละครรองรับผู้เข้าชมได้กว่า 2,000 ที่นั่ง เปิดแสดงวันละ 1 รอบ เวลา 20.00 น. ค่าบัตรเข้าชม 1,500 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2649 9222 หรือเว็บไซต์ www.siamniramit.com

วัดชนะสงคราม

เดิมอยู่กลางทุ่งนาจึงเรียกว่า " วัดกลางนา" สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาขึ้นใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชาวบ้านนิยมเรียกว่า" วัดตองปุ " ตามแบบวัดตองปุในสมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกจึงพระราชทานนามใหม่ว่า " วัดชนะสงคราม " เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พระนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ"

วัดชนะสงครามตั้งอยู่ที่ ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร สามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 33, 64, 65, ปอ. 32, 64, 65

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง พระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า “มิวเซี่ยม” แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วนกลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีวัดบวรสถานสุทธาวาส ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้าใกล้กับโรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่างๆ มากมายอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยและชาติเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลยอดเยี่ยมประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากผลงานโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชุมชนของตนเพื่อการท่องเที่ยว เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 1333

การแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุงตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร เดิมเป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ต่อมาได้มีการปรับปรุงให้เป็นโรงละครที่ทันสมัย โดยมีการนำเอาเทคนิคพิเศษมาประกอบการแสดงหลากหลายประเภท อาทิ โขน ละครเวที ละครย้อนยุค และภาพยนตร์หมุนเวียนกันไป ติดต่อ โทร. 0 2225 8757–8, 0 2623 8148-9 หรือ เว็บไซต์ www.salachalermkrung.com

ตั้งแต่ปี 2549 มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดโครงการ โขน-ศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยได้จัดแสดงตลอดปี 2549 นอกจาก โขน ซึ่งเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของไทยแล้ว สถานที่จัดแสดง คือ ศาลาเฉลิมกรุงก็เป็นโรงมหสพหลวงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ เป็นเสมือนสถาบันสัญลักษณ์แห่งการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประจำชาติด้วยรูปแบบของการแสดงอันวิจิตรตระการตา ถูกต้องตามขนบจารีตแบบแผน ซึ่งจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนได้ตระหนัก ซาบซึ้ง และภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นการสืบอายุศิลปะและศิลปินไทยให้ดำรงอยุ่อย่างยืนยาว และส่งผลดีต่อเกียรติภูมิของประเทศด้วย

การแสดงโขน ศาลาเฉลิมกรุง แสดงทุกวันศุกร์และเสาร์ เริ่มเวลา19.30 น. ใช้เวลาแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที บัตรราคา 1,000 และ 1,200 บาท จองบัตรได้ที่ศาลาเฉลิมกรุง โทร. 0-2623-8148-9, 0-2225-8757-8